” Solid State Drive หรือ SSD ”
ตอนนี้ในบ้านเราได้มี SSD หลากหลายแบรนด์มาให้เลือกใช้งานกัน แต่ว่าการเลือกใช้งาน SSD แต่ละท่านนั้นก็มีจุดประสงค์ต่างกันออกไป วันนี้เราจึงมีข้อมูลเพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจในการซื้อ SSD อีกทางมาให้ครับ
ถ้าหากเป็น SSD ที่มีให้เราซื้อใช้งานทั่วไปการเก็บข้อมูลจะถูกจัดการด้วยชิป NAND Flash ซึ่ง ชิป NAND Flash ที่มีอยู่ใน SSD ที่เราใช้งานกันจะแบ่งออกได้อยู่ 3 ประเภทครับ คือ แบบ SLC, MLC และ TLC ความแตกต่างกันก็คือจำนวนของบิทข้อมูล (bits) ที่สามารถเก็บได้ในเซลล์หน่วยความจำนั้น ๆ
มาดูรายละเอียด NAND Flash แต่ละอย่างกันครับ
SLC หรือ Single-Level-Cell chip เป็น NAND Flash แบบที่มีการจัดเก็บข้อมูลแบบ 1 บิท ต่อ 1 เซลล์ ลักษณะดังกล่าวการที่จะผลิต SSD ให้มีความจุเยอะ ๆ ทำให้มีค่าใช้จ่ายต้นทุนสูง แต่อายุการใช้งาน ความเร็วในการ อ่าน-เขียน ข้อมูล และความเสถียร จะดีกว่าแบบ MLC และ TLC
MLC หรือ Multi-Level-Cell chip เป็น NAND Flash แบบที่มีการจัดเก็บข้อมูลแบบ 2 บิท ต่อ 1 เซลล์ ราคาในการผลิตที่จะให้มีควาจุเยอะ ๆ จะถูกกว่า แบบ SLC อายุการใช้งาน ความเร็วและความเสถียรจะต่ำกว่า แบบ SLC แต่จะดีกว่าแบบ TLC
TLC หรือ Three-Level-Cell chip เป็น NAND Flash แบบที่มีการจัดเก็บข้อมูลแบบ 3 บิท ต่อ 1 เซลล์ ลักษณะดังกล่าว 1 เซลล์สามารถเก็บได้ตั้ง 3 บิท การผลิตที่จะให้ความจุเยอะ ๆ ก็จะถูกกว่าแบบ SLC และ MLC แต่อายุการใช้งาน ความเร็ว และความควาเสถียรจะน้อยกว่าแบบ SLC และ MLC
ความทนทานที่แตกต่างกันของชิป NAND Flash นั้นก็ตามมาด้วยอายุการรับประกันครับ ตอนแรก Admin ก็คิดว่าเปลี่ยนมาเป็นแบบ Flash แล้วไม่มีเรื่องรอบจานหมุนแบบ HDD ไม่น่าจะเสียกัน แต่ว่า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หากมีการใช้งานก็ย่อมมีการเสื่อมสภาพตามปกติละครับ ชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของ SSD คือชิป NAND Flash และชิปตัวนี้จะเป็นตัวชี้วัดถึงอายุการใช้งานของไดร์ฟ SSD โดยมีพื้นฐานมาจากโครงสร้างพื้นฐานของตัวชิป ข้อมูลที่อยู่ในชิป ถูกจัดเก็บในรูปแบบของประจุไฟฟ้า เก็บอยู่ระหว่างชั้นของฉนวน การประจุไฟเข้าชิป (Charging) หรือการเขียนข้อมูล หรือการคายประจุไฟ (discharging) หรือการลบข้อมูล จะต้องทำผ่านชั้นฉนวนดังกล่าว และส่งผ่านประจุไฟฟ้าที่มีศักย์มากพอที่จะทะลวงผ่านชั้นฉนวนลงไปได้ เมื่อประจุไฟฟ้าดังกล่าวสามารถผ่านชั้นฉนวนลงไปได้หมายถึงชั้นฉนวนดังกล่าวก็จะมีการสึกหรอไปตามสภาพการใช้งาน เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงมีค่า P/E cycle ระบุในสเป็คของไดร์ฟชนิดนี้ การคำนวณอายุการใช้งานหรือ “Service Life” คิดจากจำนวนครั้งที่ข้อมูลสามารถเขียนและลบได้
ความทนทาน SLC, MLC และ TLC ที่แตกต่างกันก็เนื่องมาจากการเก็บข้อมูล ต่อ 1 เซลล์ของมัน หาก 1 เซลล์เก็บได้ 3 บิท แบบ TCL การที่ประจุไฟฟ้าจะส่งไปถึงบิทที่ 3 ของเซลล์ได้จะต้องใช้ประจุไฟฟ้าที่มีระดับความสูงมากกว่าแบบ MLC และ SLC แน่นอน จากข้อมูลเบื้องต้น เราได้เห็นว่าทั้งไดร์ฟแบบ SLC MLC และ TLC ล้วนมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งานทั้งสิ้นในขณะที่ชิป NAND Flash ถูกใช้งานทั้งการอ่านและการเขียนข้อมูล สักวันหนึ่งตัวชิปก็จะถึงจุดที่ไม่สามารถใช้งานได้และเสื่อมสภาพลง เหมือนกับแผ่นกระดาษที่ถูกเขียนด้วยดินสอและสามารถถูกลบด้วยยางลบได้ แต่หากลบมาก ๆ ครั้งเข้า กระดาษก็อาจจะบางลงจนขาดได้ในที่สุด
ไม่ว่าจะเป็น HDD หรือ SSD ย่อมมีการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ ทางที่ดีเราควรหมั่นสำรองข้อมูลเป็นประจำ และการจะยืดอายุการใช้งานให้ใช้งานได้นาน ๆ พยายามหลีกเลี้ยงการใช้งานที่มีการอ่านเขียนข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เช่นการดาวโหลดไฟล์จากระบบ Bittorrent ครับ